วินาทีแรกตั้งแต่คลอด… คุณหมอตรวจเช็คอะไรบ้าง ?

คุณแม่ทุกท่านคงจำเรื่องราววันที่คลอดลูกน้อยกันได้ เพราะเป็นวันแห่งความทรงจำที่มิอาจลืมเลือน

แต่… จำได้หรือไม่ หรือทราบหรือไม่ ว่าหลังจากวินาทีแรกที่ลูกน้อยออกจากท้องเราแล้ว

คุณหมอเด็กดูแลตรวจเช็คลูกเราอย่างไรบ้าง มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง และพาไปไหนบ้าง ?

เริ่มจากห้องคลอดก่อนเลยนะคะ

เมื่อคุณหมอสูติฯ ตัดสายสะดือ ดูดน้ำคร่ำในคอในจมูกเสร็จแล้ว

คุณหมอเด็กจะใช้ผ้าห่อตัวรับเด็ก มาไว้ในเครื่องสำหรับอุ่นตัวเด็ก (Warmer) และดูดน้ำคร่ำในคอในจมูกซ้ำ

พร้อมกับตรวจเช็คร่างกายเด็ก ให้คะแนนแอพการ์ สกอร์ (Apgar Score) คะแนนเต็ม 10 ค่ะ โดยดูจาก…

1.ลักษณะสีผิวของเด็ก

2.การหายใจ

3.การเคลื่อนไหว

4.การตอบสนอง

5.อัตราการเต้นของหัวใจ

เด็กปกติ ถ้าไม่มีปัญหาอะไรจะได้ดูดนมแม่ทันทีหลังคลอด (ประมาณ 1-5 นาที) เพื่อเป็นการกระตุ้นน้ำนม

จากนั้น เจ้าหน้าที่ห้องคลอดจะติดต่อและแจ้งข้อมูลของเด็ก (ชื่อมารดา นามสกุลของเด็ก และ วัน เดือน ปี เกิด

เพศ เวลาเกิด) ให้เจ้าหน้าที่ห้องเนิร์สเซอรี่ค่ะ…

เปิดประตูห้องเนิร์สเซอรี่ตามมาเลยค่ะ

เมื่อผ่านขั้นตอนการตรวจร่างกาย และให้คะแนนแอพการ์ในเบื้องต้นจากห้องคลอดแล้ว

เด็กจะถูกตรวจเช็ครายละเอียดอื่นๆเพิ่มเติม ภายในห้องเนิร์สเซอรี่ ดังนี้…

1.การวัด

  • วัดส่วนสูง ( ประมาณ 50 เซนติเมตร )
  • วัดรอบศีรษะ ( ประมาณ 35 เซนติเมตร )
  • วัดรอบอก ( ประมาณ 33 เซนติเมตร )

2.ชั่งน้ำหนักตัว (ประมาณ 2.5 – 4 กิโลกรัม)

3.นวดตัวเด็กด้วยน้ำมันมะกอก เพื่อเป็นการเช็ดไขที่จับเกาะผิวหนังเด็กออก

4.ฉีดวิตามินเค เพื่อป้องกันเลือดออกง่ายในเด็ก

5.ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี

6.หยอดตา เพื่อป้องกันตาอักเสบจากเชิ้อแบคทีเรีย

ก่อนจะส่งเด็กไปพบคุณแม่…

คุณหมอเด็กจะตรวจเช็คร่างกายทั่วไปโดยละเอียด ตั้งแต่ศีรษะ ตา หู ช่องปาก จนกระทั่งปลายเท้า

รวมทั้งการฟังหัวใจ ปอด การขยับแขนขา สังเกตดูอวัยวะเพศอีกครั้ง และระหว่างอยู่ในโรงพยาบาล

จะมีการตรวจทุกวัน เพื่อตรวจเช็คความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก เช่น…

  1. อุณหภูมิร่างกายของเด็ก ปกติจะประมาณ 36.8 – 37.4 องศาเซลเซียส
  2. การหายใจ ปกติประมาณ 40-60 ครั้ง / นาที มีการหายใจเร็ว หรือเหนื่อยหรือไม่
  3. ตรวจฟังการเต้นของหัวใจ ว่าอัตราการเต้นปกติ ไม่มีเสียงปกติ
  4. การดูดนมมีปัญหา ดูดแล้วเหนื่อย หรือปากคล้ำขณะดูดนม หลังดูดนมมีปัญหาอาเจียน หรือท้องอืดหรือไม่
  5. มีการขับถ่ายปัสสาวะ หรืออุจจาระว่าปกติหรือไม่
  6. ภาวะตัวเหลือง

กลับบ้านได้เมื่อไหร่ ?

ก่อนที่คุณแม่และลูกจะกลับบ้านได้ คุณหมอจะต้องตรวจคัดกรองตัวเด็กเป็นครั้งสุดท้ายกับเรื่องสำคัญต่อไปนี้…

1.ตรวจภาวะต่อมธัยรอยด์ฮอร์โมนบกพร่องตั้งแต่เกิด และเฟ็นนิลคีโตนยูเรีย (PKU)

2.ตรวจคัดกรองการได้ยิน

3.ตรวจภาวะอุณหภูมิในร่างกายปกติ (อุณหภูมิ 36.8 – 37.4 องศาเซลเซียส)

4.การหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ

5.การกินและการขับถ่ายเป็นปกติ

เมื่อคุณหมอตรวจเช็คทุกรายการแล้ว ไม่มีปัญหาติดขัดในเรื่องใด ลูกน้อยสมบูรณ์เป็นปกติดี คุณพ่อคุณแม่พร้อมพาลูกน้อยกลับบ้านได้ค่ะ

 

หมายเหตุ :

1.บทความจาก : นิตยสาร 9 ทันโรค เล่ม 53 โรงพยาบาลพระรามเก้า

2.รูปภาพในบทความนี้ เป็นภาพประกอบบทความเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของบทความแต่อย่างใด


เพิ่มเพื่อน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *