แชร์ประสบการณ์ ลูกไข้ขึ้นสูง และมีอาการชัก พร้อมวิธีรับมือ !
—
วันนี้แอดมินป๊าสินจะมาแชร์ประสบการณ์ ลูกไข้ขึ้นสูงกันครับ
น้องอายุ 2 ขวบ 1 เดือน เริ่มจากลูกเริ่มมีไข้ 38.4 องศา ตอนประมาณซัก 3 ทุ่ม ของวันอังคาร ซึ่งผมก็ให้ทานยา Ibuprofen 4 cc. (จำนวน cc ของยาคุณหมอระบุไว้ให้เนื่องจากเมื่อ 2 สัปดาห์ลูกเพิ่งเป็นไข้สูง ซึ่งคุณหมอเคยบอกว่าไข้สูงคือ 39 องศาขึ้นไป) ซึ่งผมประเมินจากที่เห็นลูกเป็นไข้ถ้ามาแนว 38 องศากลางๆ แล้วเลยให้กินดักไว้เลย ทานยาเสร็จเช็ดตัวให้ไข้ลด
การเช็ดตัวในเด็กที่มีไข้ ต้องเช็ดออกแรงนิดๆ ไม่ใช่ลูบผ่านๆ และต้องเช็ดย้อนรูขุมขน เพราะต้องการให้รูขุมขนเปิด เพื่อเป็นการระบายความร้อนของไข้ให้ออกจากร่างกาย ให้เช็คตามข้อพับ ลำตัว และศรีษะ เช็ดไปเรื่อยๆ 15 – 30 นาทีให้อุณหภูมิลดลง ใช้น้ำอุณหภูมิปกติ
ปกติยา Ibuprofen จะออกฤทธิ์ 6-8 ชั่วโมง คุณหมอให้ทานห่างกัน 8 ชั่วโมง หากยังมีไข้สูงอยู่ให้ทานซ้ำได้ ซึ่งผมให้ลูกทานไปตอน 3 ทุ่ม คิดว่าฤทธิ์ยาน่าจะคุมได้ถึงตี 5 ของเช้าวันพูธ อันนี้ผมก็ชะล่าใจไม่ได้ตื่นมาเช็คไข้ลูกทุกๆ ชั่วโมง พอดี ตี 4 ตื่นขึ้นมาจับตัวลูกร้อนจี๋ รีบเอาที่วัดไข้มาวัด ไข้ขึ้นมา 39.3 องศา รีบให้ลูกทานยา แต่ครั้งนี้ให้ทาน Sara แบบเข้มข้น ให้ทาน
1.1 cc (ตามคุณหมอระบุมาเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนนี้) เนื่องจากทาน Ibuprofen ไปยังไม่ครบ 8 ชั่วโมง และรีบเช็ดตัวให้ลูก เช็ดกันอยู่ 30 นาทีไข้ลงมาที่ 38.5 องศา ก็คิดว่าฤทธิยาน่าจะคุมได้ถึง 8 โมงเช้าของวันพูธ
7 โมง โดยประมาณลูกมีอาการชักเกร็ง และสั่น ผมนี่ตาเหลือกเลยครับ ทำอะไรไม่ค่อยจะถูก กลัวลูกกัดลิ้น ผ้าอะไรก็ควานหาไม่เจอ เอานิ้วงอไว้และยัดปากลูกไว้ก่อน (ซึ่งการเอาอะไรเข้าไปยัด คุณหมอบอกว่าผิดวิธีนะครับ) สังเกตุอาการลูกคือหลับอยู่ และไม่ได้ลืมตา ลูกชักอยู่น่าจะ 3-4 นาที ผมเรียกลูก ซักพักใหญ่ๆ ถึงลืมตาขึ้นมามองแป๊ปนึง แล้วก็หลับตาเหมือนคนเพลีย ผมเลยรีบเปลี่ยนเสื้อผ้า และโกยกระเป๋าตังค์ สมุดวัคซีนและบัตรประจำตัวคนไข้ลูก และรีบไปโรงพยาบาล ซึ่งระหว่างโกยของ ก็ได้โทรไปแผนกเด็กที่รามา พรีเมี่ยม ซึ่งลูกผมคลอดที่นั่น ฉีดวัคซีน และหาหมอที่นั่นตลอด ซึ่งคุณพยาบาลบอกให้พาน้องไปโรงพยาบาลใกล้สุด แต่ตอนนี้ลูกไม่ชักแล้ว แต่ลูกยังตัวร้อนอยู่ ซึ่งนาทีนั้นบอกเลยว่าไม่เคยมีประสบการณ์แก้ไขปัญหาลูกตัวร้อนจนชักมาก่อนเลย จะป้อนยายังไม่กล้าเลยครับ ผมเลยตัดสินใจไปรามา พรีเมี่ยม ดีกว่า (ในความรู้สึกผม) ผมเลยให้ คุณแม่ และภรรยานั่งเช็ดตัวลูกระหว่างไปโรงพยาบาล เปิดไฟฉุกเฉินไประหว่างทาง ขอบคุณเพื่อนร่วมท้องถนนวันนั้นที่ให้ทางนะครับ ผมรีบจริงๆ
45 นาทีถึงโรงพยาบาลในชั่วโมงเร่งด่วน ตอนนี้ลูกรู้สึกตัวแล้ว พาไปแผนกเด็ก รามา พรีเมียม ที่ชั้น 3 อาคารสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งคุณพยาบาลดีมากๆ ครับน้องตัวร้อนรีบเอาเข้าห้องหัตถการ เช็ดตัวให้ไข้ลด และให้ยาลดไข้ก่อนเลย ขอขอบคุณมา ณ. ที่นี้ครับ
ตอนพบคุณหมดลูกอาการดีขึ้น ไข้ประมาณ 38.4 องศา เล่าอาการให้คุณหมอฟัง คุณหมอยังไม่ฟันธงว่าอาการที่เกิดขึ้นเมื่อเช้าเรียกว่าชัก หรือหนาวสั่น คุณหมอถามความเห็นว่าแอดมิทมั๊ย ผมเลยขอแอดมิทเลยดีกว่าเพราะบ้านค่อนข้างไกลพอสมควร
คุณหมอได้สรุป การแก้ปัญหาถ้าเด็กไข้ขึ้นสูง และชัก ดังนี้
1. ตั้งสติ ดูนาฬิกา เพื่อจะได้ทราบระยะเวลาในการชักว่าเด็กชักนานกี่นาที (อันนี้ถ้าแจ้งคุณหมอทราบได้จะดีมากๆ ครับ) ถ้าเด็กไม่ได้อยู่ในท่านอนให้จับนอนราบ และเคลียร์พื้นที่รอบตัวเด็กให้เรียบ และโล่งเพื่อป้องกันการกระแทก
2. ถ้าเด็กไม่ได้กัดลิ้นอยู่ ไม่ให้่เอาอะไรไปยัดปาก เพราะช้อน หรือของที่นำไปยัดอาจจะโดนกัดจนขาด และเข้าไปติดคอเด็ก
3. ถ้าเด็กชักตอนมีอาหารอะไรอยู่ในปาก ให้พยายามล้วงอาหารออกจากปากให้หมด เพื่อป้องกันอาหารเข้าไปติดคอ
4. ถ้านอนราบ และสังเกตุว่าเด็กสำลักน้ำลาย ให้จับเด็กนอนตะแคง เพื่อน้ำลายจะได้ไหลออกมาทางปากไม่จุกคอเด็ก
5. ให้ถ่ายคนถ่ายคลิปไว้ เพื่อให้คุณหมอได้วินิจฉัยอาการได้ถูกต้องที่สุด เพราะส่วนมากจะตกใจ อาจจะไม่ทันสังเกตุอาการทั้งหมด (ผมตกใจมากตอนนั้น แต่ผมคร่อมตัวลูกอยู่เลยเห็นว่าลูกหลับตา ไม่ได้ตาเหลือก)
6. รีบเช็คตัวเด็กเพื่อลดอุณหภูมิ โดยใช้น้ำอุณหภูมิปกติเช็คตามข้อพับ และลำตัว
7. ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด (สำหรับผมเลือกโรงพยาบาลที่ผมเชื่อถือที่สุด อันนี้แล้วแต่วิจารณาณครับ)
หลังจากพบคุณหมอ ระหว่างนั่งรอขึ้น Ward ลูกมีไข้ขึ้นเป็นระยะๆ ก็เอาเข้าห้องหัตถการเช็ด ตัวอยู่น่าจะซัก 3 รอบได้ ระหว่างนี้คุณหมดสั่งเก็บปัสสาวะลูกเพื่อนำไปตรวจ ได้เข้าห้องพักเกือบ 11 โมง ขึ้นไปก็เช็ดตัวอีกครั้ง ลูกก็หลับไปเพราะเพลีย
ผมเลยกลับมาเอาของที่บ้านเพื่อเตรียมไปนอนโรงพยาบาล ซักเที่ยงกว่าๆ ภรรยาโทรมาบอกลูกชักอีก คราวนี้มีคุณพยาบาลเห็นเลยฟันธงได้ว่าเป็นอาการชัก แต่ครั้งนี้ระยะเวลาในการชักสั่นกว่าเมื่อเช้า น่าจะไม่เกิน 2-3 นาที
ซึ่งคุณหมอได้บอกว่า เด็กที่มีไข้สูง 100 คน จะเจอเด็กที่ชัก 1 ครั้งจำนวน 5 คน และในเด็ก 5 คนที่ชักจะเจอเด็กที่ชักซ้ำใน 24 ชั่วโมง 3 คน
อืมมม … เป็นเคส 5 ใน 100 คน ป๊าก็เครียดแล้ว นี่เป็น 3 ใน 100 คนเล่นเอามึนเลยครับ เด็กที่เป็นไข้สูงจะมีโอกาสเสี่ยงกับการชักใน 24 ชั่วโมงแรก หากพ้นไปได้ก็จะลดโอกาศในการชักลงไปมาก แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจ (เหมือนผม) การชักเพราะไข้สูง ไม่มีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กครับ แต่หากชักจากโรคลมชักอันนี้ต้องรักษา และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และบางเคสที่คุยกับคุณแม่ที่มีประสบการณ์ลูกไข้ขึ้นสูงจนชักมา จะต้องระวังในช่วง 6 เดือนต้องดูแลใกล้ชิดพยายามอย่างให้มีไข้ขึ้นสูงจนชักอีก เนื่องจากหากชักเพราะไข้บ่อยๆ อุณหภูมิที่จะมีโอกาศชักอีกจะลดลงเรื่อยๆ เช่นครัั้งแรกที่ชักเพราะไข้สูง ชักที่ 40 องศา และครั้งต่อไปอาจจะชักที่ 39 องศา และต่ำลงเรื่อยๆ
ได้ความรู้จากคุณพยาบาลเพิ่มเติม สำหรับเด็กที่ชักมาเพราะไข้สูงหากมีไข้ 38 องศาให้เช็คตัวเลยทันที
แนวทางป้องกันหากเด็กๆ มีไข้
1. เช็คตัวทันทีหากมีไข้ตั้งแต่ 38 องศาขึ้นไป
2. ถ้าไข้ไม่ถึง 39 ให้ Sara ทุก 4 ชั่วโมง แต่หากไข้สูงเกิน 39 องศา ให้ Ibuprofen ทุก 8 ชั่วโมง ในกรณีไข้สูงก่อนครบ 8 ชั่วโมงสามารถสลับให้ Sara ทุก 4 ชั่วโมงได้ และการทานยาไม่ควรทานก่อนครบชั่วโมงที่กล่าวไว้ในแต่ละตัวยา เพราะจะทำให้ตับทำงานหนักเสี่ยงต่อการเป็นตับอักเสบได้ (คุณหมอให้ความรู้มาครับ)
3. กันเด็กให้ออกห่างจากคนรอบข้างที่ป่วย เพื่อป้องกันการติดเชื่อไวรัส หากเด็กเป็นไข้ ให้สำรวจอาการป่วยของคนรอบตัวเด็ก เพื่อเป็นข้อมูลให้คุณหมดวิเคราะห์อาการ เช่น คนที่อยู่รอบๆ ตัวเด็ก เป็นหวัด มีน้ำมูกมั๊ญ มีไข้มั๊ย หรือไปต่างประเทศมาหรือปล่าว ถ้าไปๆ ที่ไหนมา
ข้อระวังในการใช้ยา Ibuprofen ต้องแน่ใจว่าไม่เป็นไข้เลือดออกแน่นอนนะครับ หากมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นไข้เลือดออกคุณหมอไม่ให้ใช้ยา Ibuprofen นะครับ
ในเคสลูกผมตรวจเลือดไป 2 รอบ ตรวจปัสสาวะ 2 รอบ เช็คแล้วไม่เป็นไข้เลือดออก ไม่เป็นไข้หวัดใหญ่ บทสรุปคือติดหวัดจากเชื้อไวรัส ซึ่งอาการของลูกผมคือมีไข้สูงขึ้นตลอดหากยาหมดฤทธิ คืนวันพฤหัสไข้สูงลอย 38 ปลายๆ ถึง 39 ต้นๆ ตลอดต้องเช็คตัวทุก 1 – 1.5 ชั่วโมงครับ พอเย็นวันศุกร์ไข้สูงถึง 40 และลดลงตอนช่วงทุ่มนึง และไม่มีใข้ในช่วงเวลาตลอดคืน คุณหมอให้ดูอาการต่ออีก 24 ชั่วโมงไข้ไม่กลับก็กลับบ้านได้ ซึ่งได้กลับบ้านก็วันอาทิตย์ครับ
เพิ่มเติมครับ ประกันสุขภาพเด็กถึงจะแพง แต่เจียดงบประมาณมาซื้อไว้บ้างก็ดีครับ อย่างน้อยผ่อนหนักเป็นเบาเวลาจ่าย หรือหากลูกเราไม่ป่วยก็ถือว่าซื้อความเสี่ยงครับ ผมเชื่อว่าถึงมีประกันก็ไม่มีใครอยากให้ลูกป่วยหรอกครับ
หวังว่าคงเป็นประโยชน์กับคุณพ่อ คุณแม่ที่ได้อ่านไม่มากก็น้อยนะครับ อย่างไรก็ตามขอให้เด็กๆ ทุกคนไม่เจ็บ ไม่ป่วยนะครับ ลูกป่วยนี่ คุณพ่อ คุณแม่นี่เครียดหนักเลย
แอดมิน ป๊าสิน 6 มิ.ย. 2560 : 0.44 น.
